top of page
Search

เด็กยุคใหม่แก้ปัญหาอย่างมีระบบด้วย Computational Thinking

Updated: Mar 5, 2020



หลายท่านคงเคยได้ยินว่าเด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่ค่อยเก่ง คิดไม่เป็นระบบ ส่งผลให้การทำงานในอนาคตด้อยประสิทธิภาพไปด้วย เมื่อไปทำงานในองค์กรก็พูดหรือคิดไม่ทันฝรั่ง ทำให้หน้าที่การงานไม่ก้าวหน้า ส่งผลให้มีปัญหาอื่นๆตามมา เมื่อมีปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ไขอย่างไร


ท่านทราบหรือไม่ ระบบความคิดสามารถฝึกฝนกันได้ด้วยกระบวนการ Computational Thinking หรือ การคิดเชิงคอมพิวเตอร์ คือกระบวนการที่ช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแยกย่อยปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญ การออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอน โดยทักษะนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาทุกๆปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือแม้กระทั่งการเข้าสังคม เป็นประโยชน์ต่อทุกสาขาวิชา และทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน


หลักการของ Computational Thinking มีดังนี้


1. Decomposition หรือการแยกย่อยปัญหาหรือการแยกส่วนประกอบ บางทีถ้าท่านเจอปัญหาใหญ่มากๆ อาจตกใจจนไม่รู้จะเริ่มแก้อย่างไร หากท่านค่อยๆ แยกปัญหาออกมาเป็นปัญหาเล็กๆ แล้วค่อยแก้ไปทีละปัญหา ปัญหาใหญ่ก็จะได้รับการแก้ไขได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถมองเห็นปัญหาได้ครบทุกส่วน เช่น การจัดของที่กระจัดกระจาย ท่านสามารถแยกประเภทของสิ่งของ แล้วค่อยๆเก็บทีละประเภทให้เรียบร้อย หรือ การวินิจฉัยโรคของหมอ ซึ่งหมอจำเป็นต้องแยกกันตรวจที่ละส่วนของร่างกาย หัวใจ ปอด ช่องท้อง สมอง ระบบเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคหนึ่งโรค เป็นต้น


2. Abstraction หรือการคิดเชิงนามธรรม คือการมุ่งคิดไปที่ข้อมูลสำคัญ และคัดกรองส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก เช่น การหาทางในแผนที่ ซึ่งสามารถบอกทางจากจุด A ไปจุด B ได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าต้นไม้ตามทางที่ผ่านมีกี่ต้น หรือ บ้านที่ผ่านสีอะไร


3. Pattern Recognition หรือการหารูปแบบ เป็นการวิเคราะห์หารูปแบบ แนวโน้ม ลักษณะปัญหาที่เหมือนกัน โดยสามารถนำรูปแบบการแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาที่เดียวกันได้ในอนาคต ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การล้างจานกองโต ล้างจานใบที่ 1 ให้สะอาดโดยใช้ฟองน้ำที่มีน้ำยาล้างจานหมุนวนรอบจาน 10 รอบ จนสะอาด ใบที่ 2, 3, 4 ,5 และอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จนครบหมดทุกจาน


4. Algorithm หรือออกแบบขั้นตอนวิธีการ การพัฒนาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ดีควรมีความชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ และบอกชัดเจนว่าแก้ไขปัญหาอะไร การออกแบบขั้นตอนวิธีการจะช่วยให้การทำงานมีระบบ ผู้ปฏิบัติสามารถทำตามได้อย่างถูกต้อง และได้ผลลัพธ์ตามคาด และสามารถตรวจสอบจุดผิดพลาดได้ง่าย เช่น ขั้นตอนการชงกาแฟ หรือขั้นตอนการทำอาหาร ผู้ออกแบบสามารถนำมาทำเป็นขั้นตอนที่มาตรฐานหรือจัดทำเป็นตำรา สามารถให้คนทำตามได้ ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน เป็นต้น


Computational Thinking ไม่ได้จำกัดเพียงให้คิดเหมือนคอมพิวเตอร์ แต่เป็นกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาของมนุษย์ แล้วสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำตามเพื่อแก้ไขปัญหาที่เราต้องการ ดังเช่นการนำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆสำหรับคอมพิวเตอร์นั่นเอง ซึ่งเป็นทักษะการคิดที่มนุษย์สามารถนำฝึกฝนกันได้ ยิ่งเริ่มฝึกเร็วก็ยิ่งดีกับตัวผู้ฝึกเอง ทางภาครัฐเองก็ตระหนักถึงประโยชน์ของการคิดเป็นระบบดีจึงบรรจุเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการให้เด็กไทยได้เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนในโรงเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ให้เท่าเทียมสากล

206 views0 comments
bottom of page