top of page
Search

ลดเวลาทำงาน ลดเวลาเรียนดีจริงหรือ กรณีศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อ 4 วันที่แล้ว (4 พฤศจิกายน 2562) หลายๆ ท่านอาจจะได้ยินเรื่องที่ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทดลองให้มีวันหยุด 3 วันคือ วันศุกร์ - วันอาทิตย์ และทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ ในช่วงเดือนสิงหาคมทั้งเดือนที่ผ่านมา จากโปรแกรมภายในที่ชื่อว่า ‘Work Life Choice Challenge’


ใครๆ ก็น่าจะทราบว่า วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น เค้าจะทำงานค่อนข้างหนัก ทั้งทำในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงการทำงานล่วงเวลาหรือว่าโอที นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีข่าวน่าเศร้าในช่วงปีที่ผ่านๆ มาว่ามีคนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการทำงานหนัก จนกระทั่งมีศัพท์บัญญัติขึ้นมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า Karoshi นั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ไมโครซอฟท์เลือกสำนักงานประเทศญี่ปุ่น เป็นสำนักงานในการทดลองโปรแกรมดังกล่าว


แต่สิ่งที่บริษัทได้กลับมามันมีมูลค่ามากกว่าที่คิด นั่นคือ ประสิทธิภาพในการทำงาน (productivity) เพิ่มขึ้นกว่า 39.9% ซึ่งตรงนี้เค้าก็ดูจากจำนวนยอดขายขาย (number of sales made) หารด้วยจำนวนพนักงานทั้งหมด (number of employees) นอกจากนั้นแล้วพนักงานใช้วันหยุดส่วนตัวน้อยลงอีกต่างหาก


แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การหยุดงานเพิ่มขึ้นแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า 23% และอัตราการปริ๊นกระดาษก็ยังลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าอีกด้วย!! รายงานยังบอกด้วยว่า พอพนักงานไม่ได้มาออฟฟิส ก็จะลดเวลาในการประชุมด้วย งานเสร็จเร็วขึ้น ทุกคนใช้เวลาได้อย่างมีค่ามากขึ้นเสียอีก



เมื่อเรามองกลับมาในมุมของการศึกษา จริงๆ แล้วการเรียน 4 วันต่อสัปดาห์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายๆ ประเทศในยุโรป ซึ่งแนวทางนี้เกิดขึ้นในประเทศสวีเดน โดยที่ออสเตรเลียก็ถูกบรรจุเป็นเรื่องที่มาถกเถียงกันระดับประเทศแล้ว ซึ่งในต่างประเทศนั้น มีกฏเรื่องของจำนวนชั่วโมงต่อที่นักเรียนจะต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่เป็นเรื่องของจำนวนวัน โดยจะมีจำนวนประมาณ 1,080 ชั่วโมงต่อปี ดังนั้นในโรงเรียนที่เรียนแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ก็ต้องปรับจำนวนเรียนต่อวันให้ยาวขึ้นด้วยเช่นกัน


ข้อดีที่โรงเรียนเปิดแค่ 4 วันคือ รัฐสามารถประหยัดงบประมาณด้านการศึกษา เพราะว่าที่ต่างประเทศจะมีงบสำหรับการจัดทรัพยากรการเดินทางให้กับนักเรียนรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับครูไปได้กว่า 1 ล้านดอลล่าร์ต่อปีเลยทีเดียว และงบที่เคยกระจุกอยู่ที่เดิมจะถูกกระจายออกไปเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษาอื่นๆ มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ครูก็มีเวลาในการทำงานดีขึ้น เอาวันที่นักเรียนไม่มาเรียนใช้ในการพัฒนาครู หรือเตรียมการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้นๆ ไปอีก


ในแง่ของผลการเรียน ที่รัฐโคโรราโดได้มีการทำรายงานขึ้น พบว่าผลการเรียนของนักเรียนไม่มีความต่างกันระหว่างการไปโรงเรียนแบบเดิมคือ 5 วันกับการไปแค่ 4 วัน เพราะจริงๆ แล้วจำนวนเวลาที่นักเรียนใช้ในห้องเรียนก็ไม่ได้ต่างกัน แต่ก็มีบางผลการศึกษากลับพบว่า ถ้านักเรียนได้ไปโรงเรียน 5 วันต่อสัปดาห์จะมีผลการเรียนที่ดีกว่า


อย่างไรก็ดี หากเรานำแนวทางใหม่นี้มาใช้ คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือพ่อแม่ผู้ปกครอง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังคงต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์อยู่ดี ทำให้พ่อแม่หลายๆ คนต้องหาทางส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม หรือว่าส่งไปยังศูนย์รับเลี้ยงเด็ก (ที่ต่างประเทศ ครอบครัวมักจะไม่มีพี่เลี้ยง พ่อแม่จะต้องเป็นคนดูและลูกเองตลอดเวลา) บางโรงเรียนจึงจัดให้มีโปรแกรมรับเลี้ยงเด็กแบบค่าใช้จ่ายถูกกว่า


จริงๆ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ใครเป็นผู้กำหนดให้วันทำงานต้องเป็น 5 วันและวันหยุดจะเป็นแค่ 2 วันต่อสัปดาห์ ทำไมไม่เป็น 4-3 วันแทน ถ้ามองภาพใหญ่ ก็น่าสนใจเหมือนกันที่จะมาพิจารณากันอย่างจริงจัง ซึ่งมันจะไม่กระทบเพียงแต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานเท่านั้น น่าจะกระทบกับเรื่องของเศรษฐกิจโดยกว้างด้วย หากบ้านเรานำมาพิจารณา ก็จะสะท้อนได้ดีเรื่องของการกระจายอำนาจของการศึกษา ที่ทั้งประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คล้ายๆ กับที่ปิดโรงเรียนช่วงประชุมอาเซียนที่ผ่านมา รัฐบาลก็เลือกปิดเฉพาะในจังหวัดที่อยู่ในเขตการประชุม เมื่อปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการ และผลลัพธ์ที่ได้รับมันก็น่าจะดีกว่าเหมือนกัน


อ้างอิงจาก

https://www.sbs.com.au/news/the-feed/microsoft-japan-gave-workers-three-day-weekends-productivity-jumped-40-per-cent

https://bigthink.com/scotty-hendricks/why-some-us-school-districts-are-adopting-a-4-day-school-week


40 views0 comments
bottom of page