top of page
Search

Distance Learning- เราจะเรียนกันอย่างไรในช่วงที่โควิด-19 ระบาด


Cr. รูปจาก Google Blog


ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน EduTech Thailand ได้มีส่วนในการผลักดันให้วงการการศึกษาไทยใช้เครื่องมือออนไลน์ในการเรียนการสอน ซึ่งเครื่องมือเหล่านั้นสามารถให้เกิดการเรียนทางไกลกันได้มากขึ้น ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้จาก 'ทุกที่ - ทุกเวลา' หรือ 'Anywhere - Anytime' ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีการนำไปใช้กันในบริบทของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า เราจะต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้มาใช้กันอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่า Covid-19 จะทำให้นักเรียนหรือครูไปโรงเรียนไม่ได้ แต่การเรียนรู้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หากครูเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้กันอย่างจริงจัง


เป็นข่าวดีที่ว่า หลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Loom, Kahoot เป็นต้น ก็ออกมาสนับสนุนอัพเกรดแอพให้ภาคการศึกษาใช้กันในช่วงนี้ได้อย่างเต็มขั้น รวมถึงหลักสูตรเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก ต่างก็ออกมาให้ผู้สนใจเรียนฟรีกันด้วย


ในฝั่งของ Google ทางบริษัทเค้าก็มีออกมาประกาศให้ภาคการศึกษาสามารถใช้ Hangouts Meet แบบแอดวานซ์ นั่นคือสามารถพูดคุยกันได้ถึง 250 คนในเวลาเดียวกัน และสามารถทำการสตรีมมิ่งให้มีผู้รับชมได้สูงถึง 100,000 คนเลยทีเดียว แต่มีข้อแม้ว่า ผู้เข้าชมเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้โดเมนเดียวกันเท่านั้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า คุณครูสามารถทำ 'โรงเรียนเสมือนจริง' (Virtual school) ได้จากบ้าน หรือผู้อำนวยการโรงเรียนก็สามารถประชุมครู หรือผู้ปกครองได้จากที่ไหนก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถที่จะทำการอัดการประชุมหรือการสอนครั้งนั้นๆ และจัดเก็บไว้ใน Google Drive เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าชมการสอนสด ให้เรียนย้อนหลังได้ทุกที่และทุกเวลา


อย่างไรก็ตาม การเรียนทางไกลก็อาจจะยังคงเป็นส่ิ่งใหม่ในบ้านเรา ทั้งครูและนักเรียนจะต้องมีการปรับตัวกันค่อนข้างสูง เราได้ถอดคำแนะนำจากคุณ Jennie Magiera ซึ่งเป็น Global Head of Education Impact, Google for Education ซึ่งเค้าได้มีคำแนะนำให้กับครูที่จะมีการสอนทางไกลในช่วงนี้ ดังนี้


1. พยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าตัวเค้าจะนั่งเรียนอยู่ที่บ้านก็ตาม


การเรียนในห้องเรียนเสมือนจริง อาจจะทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่ได้เจอเพื่อนๆ เลยอาจจะทำให้รู้สึกไม่อยากเรียนได้ง่าย ซึ่งการนั่งเรียนจากวิดีโอ อาจจะทำให้นักเรียนหลายๆ คนใช้วิธี fast forward หรือไม่ก็กดข้ามบทเรียนไปเลยก็ได้ ดังนั้น เมื่อครูให้นักเรียนเรียนจากวิดีโอที่ได้เตรียมไว้แล้ว ครูอาจจะต้องเปิดห้องสนทนา (virtual discussions) เพื่อเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้พบปะพูดคุยกันจริงๆ หรือไม่เวลาระหว่างดูวิดีโอ ครูสามารถบอกให้นักเรียนหยุดวิดีโอ และเข้าไปพูดคุยกันใน Google Classroom โดยใช้สตรีม ในเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง หรือครูอาจจะใช้การแสดงความคิดเห็น (comments) ใน Google Docs และ Classroom เพื่อให้เกิดการสนทนาและให้ฟีตแบ็คกันในชั้นเรียน


2. วัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนบ่อยๆ


การวัดผลการเรียนรู้ จะช่วยให้ครูทราบว่า นักเรียนได้เข้ามาเรียนกันจริงจังแค่ไหน หรือว่ามีความเข้าใจกับบทเรียนมากน้อยเพียงใด ครูสามารถใช้วิธีการสร้างแบบคำถาม และให้นักเรียนทำระหว่างที่ดูวิดีโอการสอนด้วย Google Form และให้นักเรียนได้รับผลคะแนนแบบเรียลไทม์ทันที เพื่อที่นักเรียนจะได้ทราบว่าจะต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งการที่ครูทำการแทรกแบบคำถามไว้ช่วงกลางของการดูวิดีโอ ก็เท่ากับว่าเป็นการเช็คชื่อนักเรียนไปในตัวด้วย โดยที่ Google Form นี้ ครูยังสามารถใส่วิดีโอ ให้ระบบตรวจข้อสอบ และส่งคะแนนให้กับนักเรียนโดยทันที นอกจากนั้นแล้ว ครูยังสามารถใช้ Google Classroom ในการส่งคะแนนการทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัดไปให้กับนักเรียนโดยตรงได้ด้วย ซึ่งนักเรียนก็สามารถทำรายงานกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน ผ่าน Slide, Docs หรือ Sites


3. อย่าหายหน้าไป พยายามติดต่อนักเรียนโดยใช้ Hangouts Meet


ตอนนี้เด็กๆ อาจจะดีใจที่ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่เราก็เชื่อว่าเด็กๆ จะคิดถึงครู คิดถึงเพื่อน แล้วก็กิจวัตรประจำที่เค้าได้ทำที่โรงเรียน ดังนั้น ครูสามารถที่จะจัดห้องเรียนออนไลน์ผ่าน Hangouts Meet ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพูดคุยผ่านวิดีโอ ให้นักเรียนและครูได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องที่กำลังเรียนอยู่ หรือแม้แต่ใช้ในการประชุมครู เพื่อหารือแนวทางการสอนก็ได้ หากห้องเรียนของเราเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ครูสามารถเปิด live caption หรือคำบรรยายวิดีโอในการประชุมทางวิดีโอก็ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้นักเรียนโฟกัสกับสิ่งที่เรียน หรือแม้แต่ช่วยนักเรียนที่มีปัญหาในการได้ยิน หรือไม่สามารถจับใจความได้ถนัด


คุณครูสามารถใช้ Google Calendars ในการจัดตารางนัดหมายให้มีระเบียบ ซึ่งครูอาจจะมีการจัดเวลา 1:1 หรือการคุยตัวต่อตัวกับนักเรียนแต่ละคน หรือเป็นกลุ่มย่อยก็ได้ อย่างไรก็ตาม นักเรียนบางคนอาจจะมีปัญหาในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ดังนั้นคุณครูจะต้องมีการผสมผสานการเรียนแบบสด (ผ่านทาง Google Hangouts) และการเรียนผ่านจากวิดีโอที่บันทึกไว้ก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ที่สะดวก


4. อย่าลืมเช็คความรู้สึกและความเป็นอยู่ของนักเรียนด้วย


พอได้รับข่าวสารมากๆ บางคนก็จะเครียดไปด้วย เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถอ่านและอัพเดตข้อมูลสถานการณ์เป็นไปได้ตลอดเวลา ครูก็สามารถใช้การพูดคุยผ่าน Hangouts Meet กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่า เค้าสามารถติดต่อพูดคุยและปรึกษาครูได้เรื่อยๆ นอกจากนั้นแล้ว ครูก็สามารถใช้ Google Forms ให้นักเรียนตอบคำถาม อัพเดตความเป็นอยู่และเข้าถึงครู หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ และครูก็ยังสามารถเขียน Blog หรือให้นักเรียนเขียน Blog เพื่อเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งในรูปแบบการเขียน หรืออัดเป็นคลิปวิดีโอ


5. ข้ามเรื่องข้อกำจัดด้านเวลาเสีย


ด้วยการเรียนทางไกล คุณครูก็สามารถมองข้ามเรื่องของเวลาไปได้เลย เช่น จะต้องให้นักเรียนรีบทำแบบฝึกหัดให้จบก่อนหมดคาบ หรือต้องรีบพูดรีบสอนให้ทันก่อนโดยไม่ได้ตรวจสอบว่า ทุกคนเข้าใจในเนื้อหาหรือไม่ ปัญหานี้จะหมดไป เพราะนักเรียนจะสามารถค่อยๆ นั่งวิเคราะห์เนื้อหาที่กำลังเรียนได้ในแบบและจังหวะของตัวเอง ซึ่งนี่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ครูสามารถออกแบบการเรียนและกิจกรรมแบบ "choose your own adventure" - เลือกแนวทางของคุณเองได้ ซึ่งเราก็เคยได้ยินมาว่า โรงเรียนในประเทศไทยหลายแห่งเริ่มมีการเรียนการสอนแบบนี้ เช่น เด็กที่มีความถนัดวิชาคณิตศาสตร์ เค้าก็จะได้ทำแบบฝึกหัดที่มีความยากกว่า ในขณะที่เด็กที่มีความถนัดน้อยกว่า ก็จะได้ทำข้อที่มีความซับซ้อนน้อยลง เป็นต้น


6. ลองค้นหาวิธีหรือตัวช่วยอื่นๆ ที่จะทำให้การเรียนทางไกลประสบผลสำเร็จ


ไม่ใช่ครูทุกคนที่ทราบและถนัดการทำห้องเรียนออนไลน์ หลายๆ คนเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเค้า คุณครูอย่ามัวแต่นั่งงง แต่สามารถหาการช่วยเหลือจากครูท่านอื่นๆ หรือแม้กระทั่งลองติดต่อ Google Educator Groups ซึ่งในประเทศไทยมีกว่า 20 กลุ่ม (สามารถสอบถามมาทาง inbox EduTech Thailand ได้ เนื่องจากทางเราเป็นผู้ติดต่อกับทุกกลุ่ม) หรือเรียนรู้ผ่านทาง Twitter, Facebook ซึ่งตอนนี้มีคนแชร์ข้อมูลเยอะมาก หรือแม้กระทั่งการสอนการใช้เครื่องมือออนไลน์ ซึ่งทาง EduTech Thailand จะเปิดสอนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเร็วๆ นี้ด้วย





272 views0 comments
bottom of page