top of page
Search

Deepfake เครื่องมือมหัศจรรย์ ดาบสองคมที่คุณควรกังวลไหมในยุคนี้




ลองดูวิดีโอด้านล่างนี้ หลายๆ คนที่ยังไม่รู้จัก Deepfake ก็อาจจะเริ่มอ๋อแล้วว่ามันคืออะไร จริงๆ Deepfake ก็แอบน่าหลอนเหมือนกัน เพราะเจ้า AI ตัวนี้สามารถเรียนรู้หน้าตา เสียง และโทนการพูดของบุคคลจากวิดีโอหรือรูปภาพตัวอย่างเพียงไม่กี่รูป ก็สามารถแปลงให้คนๆ นั้นพูดหรือทำท่าทางต่างๆ ตามที่ผู้ควบคุมต้องการได้เลย แต่ที่มันน่ากลัวมากขึ้นก็คือคนที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ มีหลากหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ ทั้งนำไปสร้างหน้าคนดังอย่าง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Facebook ที่ทำให้เหมือนออกมาพูดว่าคนที่ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของคนทั้งโลกเป็นอันตราย!! (ซึ่งเจ้าตัวคงไม่พูดแบบนี้แน่ๆ) หรือจะเป็น Elon Musk นักธุรกิจและนักลงทุนชาวแอฟริกาใต้ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ และเทสลามอเตอร์ส ออกมาคลานไปมาเป็นเด็กทารก แม้กระทั่งการนำภาพของดาราฮอลลีวูดอย่าง Nicolas Cage มาสลับหน้ากับดาราคนอื่นๆ ในภาพยนตร์มากมาย




สำนักข่าว BBC รายงานว่า มีการสำรวจพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา วิดีโอประเภท Deepfake มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า สิ่งที่น่าตกใจก็คือวิดีโอเหล่านี้สามารถเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อย่างงามเลยทีเดียว โดยบริษัท Deeptrace ผู้ทำการสำรวจพบว่า จำนวนวิดีโอเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 7,964 วิดีโอในเดือนธันวาคม 2018 เป็นจำนวน 14,698 วิดีโอในเดือนตุลาคม 2019 เลยทีเดียว



หลายๆ คนเริ่มเป็นกังวลว่าวิดีโอ deepfakes จะนำไปใช้ในแง่ของการเมือง แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ 96% ของวิดีโอเหล่านี้กลับกลายเป็นวิดีโอผู้ใหญ่ที่มีหน้าตาของคนดัง หรือดารามาแสดงหนังเหล่านี้แทน ไม่ว่าจะป็นดาราจากฝั่งอเมริกา อังกฤษ หรือแม้กระทั่ง K-Pop เกาหลีก็ยังโดนไปด้วย กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เลยทีเดียว


วัตถุประสงค์ของผู้ทำวิดีโอเหล่านี้ มีหลากหลายวัตถุประสงค์ ทั้งนำมาให้ผู้โดนกระทำเสียหาย ปลุกปั่นกระแส สร้างความแตกแยก ทำให้เสียชื่อ หรือแม้แต่เพื่อการ cyber bullying หรือการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์


Deepfake เป็นกิจกรรมแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) มาจากคำว่า Deep learning และ Fake ซึ่งคำว่า 'Deep learning' ก็คือการให้ AI ทำหน้าที่เรียนรู้ข้อมูล และตัดสินใจกระทำการ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ได้เรียนรู้มา คล้ายๆ กับเวลาเราค้นหา Google คำว่าแมว ระบบสืบค้นของ Google ก็จะแสดงภาพเฉพาะแมว ไม่มีม้า เนื่องจากระบบของ Google ได้เรียนรู้ภาพแมวมาหลายล้านภาพโดยละเอียดทุกซอกทุกมุม จากนั้นก็จะสามารถนำเสนอภาพแมวที่ถูกต้องได้ หรือเทคโนโลยีของ Facebook ที่สามารแท็กคนที่อยู่ในภาพที่เราเพิ่งอัพโหลดได้อย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะเปลี่ยนทรงผม ใส่แว่น หรือมีหมวกที่แตกต่างจากภาพที่เราเคยอัพโหลดไปก่อนหน้านั้น


จริงๆ แล้ว จะว่าไปแล้ว การก่อตั้งของบริษัท Deeptrace ซึ่งมีพันธกิจของบริษัทในการปกป้องบุคคลและองค์กรจากความเสียหายที่เกิดจากสื่อที่สร้างจาก AI ก็แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของกระแส deepfake ที่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีหลายบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อหากำไรจากเทคโนโลยีตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนังโป๊ ซึ่งทำการสร้างวิดีโอผู้ใหญ่แบบ deepfake-themed เท่านั้น ซึ่งมีผู้เข้าชมกว่า 134 ล้านครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2018 หรือแม้กระทั่งมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถลบเสื้อผ้าออกจากรูปภาพนิ่งของหญิงสาวและคิดเงินสูงถึง 1,500 บาท ($50) ในการนำลายน้ำออกจากภาพด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ซอร์ฟแวร์นี้ก็ยังมีอยู่ และดูเหมือนว่ามันจะใช้ง่ายขึ้นง่ายขึ้นทุกๆ วัน และต้องการภาพในการประมวลเพื่อสร้างเป็นวิดีโอ deepfake จำนวนน้อยลงทุกวันเช่นกัน


หากจะถามว่า เจ้าเทคโนโลยี deepfake นี้มีแต่เรื่องที่น่ากลัวหรือ? จริงๆ แล้วประโยชน์ของมันก็มีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สำนักข่าว Xinhua ของประเทศจีน ซึ่งได้เปิดตัวนักข่าวปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence (AI) news anchor) คนแรกของโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ซึ่งทาง Xinhua ได้เรียนรู้วิดีโอของนักข่าวจริงๆ ที่มีตัวตนของสำนักข่าว แล้วให้นักข่าว AI คนนี้อ่านข่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบไม่ต้องพักผ่อน เป็นการลดต้นทุนของสำนักข่าวด้วย แต่ในทางกลับกันเราก็เห็นได้ว่า สื่อมวลชนก็ถือเป็นอีกกลุ่มวิชีพที่เสี่ยงต่อการถูก Disrupted และแทนที่ด้วยเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ก็ไม่แน่เหมือนกัน ต่อไปเทคโนโลยีนี้อาจจะถูกนำมาใช้ในวงการการศึกษาด้วย



เทคโนโลยีนี้มันเริ่มใกล้ตัวเข้ามาทุกที ทั้งในแง่ของการนำมาเป็นเครื่องมือทำลาย สร้างความแตกแยกเกลียดชัง หรืออาจจะเป็นเครื่องมือในการ disrupt วงการต่างๆ แม้กระทั่งนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการข้อมูลก็ได้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีเสมือนเป็นดาบสองคมแล้วแต่มุมมองของผู้ใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเทคโนโลยี Deepfake นั่นก็คือ เราอยู่ในสมัยยุคที่ต้องหัด "เอ๊ะ!" อย่าไปเชื่อทุกสิ่งที่เห็นในอินเตอร์เน็ตทันที ซึ่งถ้าใครมีทักษะการ "เอ๊ะ!" สูง ก็จะสามารถพิจารณาตัดสินข้อมูลที่ได้รับได้ดีขึ้น มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะรับทันทีได้ดีกว่าคนที่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องคิด พิจารณาและสอนเด็กๆ ต่อไป



อ้างอิง:

767 views0 comments
bottom of page